|
เกี่ยวกับหน่วยงาน - ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่
เกี่ยวกับหน่วยงาน |
วิสัยทัศน์ |
บริการก้าวไกล ใส่ใจประชาชน กำลังพลพร้อม น้อมนำพระราชดำรัส |
พันธกิจ |
|
เราจะดูแลประชาชนดุจญาติมิตร ไม่คิดเหน็ดเหนื่อย ป้องกันภัย ให้ประชาราษฎร์ |
ประวัติความเป็นมา |
|
ประวัติตำรวจเมืองพร้าว
(ตั้งแต่ ปี2447-2560รวมเป็นเวลานาน 113 ปีผ่านมาแล้ว )
ตำรวจทางเหนือ(มณฑลพายัพ) เริ่มจัดตั้งตำรวจภูธร เมื่อ ปี พ.ศ.2447 ตามปรากฏในหนังสือขออนุญาตจากพระยาศรีสหเทพ ผู้ดูแลมณฑลพายัพมีหนังสือขออนุญาตรัชกาลที่ 5 ตั้งตำรวจภูธรขึ้น โดยวิธีเกณฑ์และจ้างคนอายุ 20-25 ปี ในท้องถิ่น เป็นตำรวจ กำหนดให้รับราชการ 2 ปี เงินเดือนๆละ 4 บาท เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 7 บาท 32 อัฐ รวม 11 บาท 32 อัฐ เมื่อครบ 2 ปี จะสมัครต่อก็ได้ ให้เพิ่มเงินเดือนอีก 3 บาท
หัวหน้าตำรวจพร้าวเริ่มมีข้อมูลในปี พ.ศ.2459 คือ นายอ้าย อินเอม ในช่วงเวลาปี พ.ศ.2481-2519 ข้อมูลการสัมภาษณ์ของ จ.ส.ต.เรืองเดช วงค์ชัย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โรงพักพร้าวเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ตำรวจประมาณ 12 นาย คดีมักไม่ค่อยมี มีเฉพาะคดีเกี่ยวกับฝิ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยรอบโรงพักมีสระน้ำ กว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อใช้ดับเพลิงหาเกเกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากเมื่อก่อนใช้ตะเกียงน้ำมันกาด ตัวอาคารใช้ไม้หนาเป็นฝา เพื่อป้องกันกระสุนปีน ที่ฝามีช่องให้กระบอกปืนยาวสอดได้เพื่อใช้ยิงหากมีการต่อสู้
ช่วงเวลาดังกล่าวหัวหน้าโรงพักพร้าวชื่อ ร.ต.ต.หมื่นปราบหมู่พาล เป็นผู้บังคับกอง การเดินทางไปรับเงินเดือน นำผู้ต้องหาไปส่ง หรือ รับ-ส่งเอกสารระหว่างพร้าว-กองกำกับเชียงใหม่ ค่อนข้างยากลำบาก เพราะไม่มีถนน ต้องใช้การเดินเท้า จากอำเภอพร้าวไปเส้นทางบ้านป่าฮิ้น ผ่านป่าเขาไปทะลุอำเภอเชียงดาว หากออกจากอำเภอพร้าว เวลา 06.00 น. จะถึงอำเภอเชียงดาวประมาณ 17.00 น. ก่อนถึงอำเภอเชียงดาวต้องข้ามแม่น้ำปิง โดยเรือข้ามฟาก ค่าโดยสารคนละ 10 ส.ต. หากมีผู้ต้องหาต้องฝากขังที่อำเภอเชียงดาวตามระเบียบ และเช้าจึงเดินทางต่อโดยรถโดยสารสายฝาง-เชียงใหม่ แต่หากไม่มีผู้ต้องหาก็สามารถโดยสารรถเข้าเชียงใหม่ในวันนี้ได้เลย ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ข้อหาสูบฝิ่น ก่อนออกเดินทางต้องมีฝิ่นให้เสพเพื่อให้มีแรงเดินทาง หากมีผู้ต้องหาออกจากอำเภอพร้าวเวลา 6 โมงเช้า จะถึงอำเภอเชียงดาวประมาณ 3 ทุ่ม
โรงฝิ่นของอำเภอพร้าว เคยมีแห่งเดียว ที่บริเวณบ้านเฮียเทียมในปัจจุบัน ชื่อ “เจ๊กเฮงโรงยาฝิ่น” เจ้าของเป็นคนจีน อายุประมาณ 60 ปี เปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีสรรพสามิตดูแลเก็บภาษี
ส่วนผู้บังคับกองได้รับสิทธิ คือ มีม้าประจำตัว มีคนเลี้ยงม้า ชื่อ พลตำรวจเดช เดชวงยา ร่วมเดินทางไปด้วย สามารถขี่ม้าร่วมกับตำรวจชั้นประทวนได้ เป็นการทุ่นแรง ในคณะจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เลี้ยงม้าติดตามไปด้วย รวมทั้งลูกหาบที่จ้างชาวบ้านหาบเสื้อผ้าหรือสิ่งของ ค่าจ้างคนละ 50 ส.ต. ต่อวัน เมื่อถึงอำเภอเชียงดาว ตำรวจที่เลี้ยงม้าจำเลี้ยงม้ารอที่อำเภอเชียงดาว เมื่อผู้บังคับกองเสร็จราชการเดินทางกลับมาที่อำเภอเชียงดาวก็มอบม้าให้เดินทางกลับเข้าอำเภอพร้าว ขณะนั้นถนนสาย สันทราย ยังไม่มี จะมีเฉพาะทางเกวียนไปทะลุถึงอำเภอสันทราย
ขณะนั้นผู้บังคับกองเงินเดือนประมาณ 80 บาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นจำนวนเงินที่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้า ราคาข้าวสาร 2 ลิต 3 ส.ต. ส่วน จ.ส.ต.เรืองเดชฯเงินเดือน 20 บาท เบี้ยเลี้ยง 12 บาท
ปี.พ.ศ.2484 มีสงครามบูรพา กรมตำรวจสั่งการให้พร้าวจัดตำรวจ 5 นาย ไปเป็นตำรวจชายแดน จ.ส.ต.เรืองเดชฯ เป็น 1 ใน 5 คน ติดตามฝ่ายทหารไปรักษาจุดที่ทหารยึดได้ ไปยึดเมืองแหง เขตอำเภอเชียงใหม่ และเลยไปถึงแม่น้ำสาละวิน ประมาณ 1 ปีเศษ กลับมาปี พ.ศ.2486 ผู้บังคับกองคือ ร.ต.ต.กำจัด มณีโชติ ตำรวจเพิ่มประมาณ 30 นาย ส่วนผู้กำกับการเชียงใหม่ คือ พ.ต.อ.หลวงสิทธิประสิทธิ์
ตำรวจรุ่นเก่าอีกคนหนึ่งคือ ร.ต.ต.ปัน ทองคำ (เสียชีวิตแล้ว) เคยเล่าว่าในสมัยก่อนนั้น การเป็นตำรวจใช้วิธีการเกณฑ์ รับชายในพื้นที่อายุ 17 ปีขึ้นไป มีค่าตอบแทน เงินเดือน 4 บาท เบี้ยเลี้ยง 7 บาท 50 ส.ต. ด้าน ร.ต.ต.ปันฯ เป็นตำรวจตั้งแต่ปี 2483 ถึง พ.ศ.2522 ด้วยวิธีการเกณฑ์ร่วมกับการเกณฑ์ทหาร จับใบแดงเป็นทหาร ใบดำเป็นตำรวจ จับฉลากได้เป็นตำรวจ 1 ใน 11 คน ในปีนั้นที่หน้า ร.ร.บ้านแจ่งกู่เรือง และเป็น 1 ใน 4 คน ที่รับราชการเป็นตำรวจที่โรงพักพร้าว ฝึกโดยหัวหน้าโรงพัก คือ จ.ส.ต.อินตา ร่มพล และ ร.ต.ต.หมื่นปราบ หมู่พาล เครื่องแบบสมันนั้น เป็นเครื่องแบบ 4 กระเป๋า เหมือนเครื่องแบบชุดคอแบะของนายตำรวจในสมัยนี้ แต่ต่างชุด
ตำรวจสมัยก่อคอจะตั้ง และในปี พ.ศ.2483-2485 กางเกงจะยาวถึงหัวเข้าเท่านั้น โดยมีกระดุม 1 เม็ด ด้านหน้า และต้องใช้ผ้ายาวประมาณ 1 เมตรเศษ กว้างประมาณ 1 คืบ (6 นิ้ว) พันเรือยมาจากข้อเท้าถึงใต้เข่าทั้งสองข้าง โดยจะพันแข้งเฉพาะเวลาฝึกและเวลาเข้าเวรเท่านั้น ส่วนรองเท้าขาดแคลน ร.ต.ต.ปันฯ ต้องซื้อรองเท้าผ้าใบสวมเครื่องแบบสมัยเก่าจะเป็นกากีแกมเหลือง ซึ้งต่างกับสมัยนี้ที่เป็นกากีแกมเขียว เครื่องแบบ 4 กระเป๋าเลิกใช้ ประมาณปี พ.ศ.2498 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โรงพักเก่ารื้อในปี พ.ศ.2512 และสร้างใหม่ พ.ศ. 2513( ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2552 ได้รื้อเพื่อสร้างหลังใหม่) ข้อมูลจาก ด.ต.สมพิศ กงชา ให้สัมภาษณ์ สมัยผู้กอง คือ พ.ต.ต.นพ จิรางกูร
ในช่วงนั้นปี พ.ศ. 2513 ถนนยังใช้สายปิงโค้งสายเดียว มีรถคอกหมูบริการ แต่ฤดูฝนลำบากต้องใช้โซ่ และหากทางช่วงขึ้นเขาจะต้องลงจากรถ ให้รถล่วงหน้าไปก่อนและตามไปขึ้นรถในทางด้านหน้า
รายชื่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรพร้าว จากอดีตถึงปัจจุบัน
2459-2461 ส.ต.อ.อ้าย อินเอม
2461-2464 ส.ต.อ.หมื่นนิกรเกษม
2464-2468 ส.ต.อ.ถา
2468-2471 ส.ต.อ.ใจ
2468-2471 ส.ต.อ.มูล ราดคำ
2473-2475 ส.ต.อ.บุตร โรคระงับ
2475-2480 ส.ต.หมื่นวิเชียร กิจจารักษ์
2480-2482 จ.ส.ต.มูล ราดคำ
2482-2483 จ.ส.ต.อินตา ร่มพล
2483-2485 ร.ต.ท.หมื่น ปราบหมู่พาล(เริ่มตำแหน่งผู้บังคับกอง)
2486-2495 ร.ต.ท.กำจัด มณีโชติ
2496-2497 ร.ต.อ.คณิต วินิจเขตคำนวณ
2497-2501 ร.ต.อ.ถา อินภูวรรณ
2501-2504 ร.ต.อ.มานิตย์ จันทวรรณ
2504-2506 ร.ต.อ.ภักตรี ทับเนตร
2506-2509 พ.ต.ต.มล.ชวน สหาวุธ
2509-2510 พ.ต.ต.บัญญัติ ศรีสมบูรณ์
2510-2513 พ.ต.ต.นพ จิรางกูร
2513-2515 พ.ต.ต.เกษม ศุขพงษ์
2515-2517 พ.ต.ต.สง่า เอมหฤทัย
2517-2518 พ.ต.ต.ศิลป์ชัย ฉายแสง
2518-2519 พ.ต.ต.อำนวย ทับทิมโต(เริ่มตำแหน่งสารวัตรใหญ่)
2519-2522 พ.ต.ต.ส่ง อินทราวารัตน์
2522-2523 พ.ต.ท.วันชัย สิริเตชะ
2523-2526 พ.ต.ท.พิสิษฐ์ อรุณแสง
2526-2529 พ.ต.ท.สำเริง ชื่นโกมล
2529-2530 พ.ต.ท.ดุษฎี นิรมร
2530-2532 พ.ต.ท.ทิม ไชยณรงค์
2532-3535 พ.ต.ต.ชนินทร์ แจ้งกระจ่าง
2535-2537 พ.ต.ท.สมศักดิ์ คล้ายอักษร (เริ่มตำแหน่งรองผู้กำกับการ)
2538-2541 พ.ต.ท.สายันห์ คชลักษณ์
2541-2542 พ.ต.อ.เชิดชาย ม่วงมงคล (เริ่มตำแหน่งผู้กำกับการ)
2542-2543 พ.ต.อ.กิตติพงศ์ จังวานิช
2543-2546 พ.ต.อ.สายัณห์ แสงมณี
2546-2548 พ.ต.อ.สมพร ธรรมอนันต์
2548-2550 พ.ต.อ.พยนต์ มงคลนัฎ
2550-2553 พ.ต.อ.อนุ เนินหาด
2553-๒๕๕๗ พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์
๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ พ.ต.อ.อดุลย์ สมนึก
๒๕๕๘-๒๕๕๘ พ.ต.อ.สมชัย อินทโสติ (ก.พ.-ก.ย.๕๘)
๒๕๕๘-๒๕๕๙ พ.ต.อ.กนิษฐ ประสานสุข(ต.ค.๕๘-มิ.ย. ๕๙)
๒๕๕๙-2561 พ.ต.อ.ปภาณ สุจินตะเดชา
2561-2563 พ.ต.อ.วิชาธร ผิวพรรณ
2563-2564 พ.ต.อ.ชลเทพ ใหม่ไชย
2564-2566 พ.ต.อ.สง่า ศรีวิชัย
2566-ปัจจุบัน พ.ต.อ.พงษ์ธรรศ เจริญปรีชญาพงษ์
|
|
|
|
|